Biz-005 : อ่านบทความ "ชาวนาไทยรายย่อยไม่จำเป็นต้องส่งออกอันดับ 1 โลก" จบปุ๊บ อดใจไม่ไหวต้องเขียนบล็อกทันทีครับ

สวัสดีครับเพื่อนๆ วันนี้พิเศษหน่อยนะครับ หลังจากผมได้คนขับรถมาช่วยงานเพราะว่าตอนนี้รถอยู่ที่ศูนย์ ต้องรออะไหล่ 1 เดือน ทำให้สามารถเคลียร์งานคั่งค้างเกี่ยวกับเอกสารเก่าๆ ไปได้มาก อาจมีแววว่าจะกลับมาวาดภาพด้วยกาแฟอีกครั้ง หลังจากไม่ได้วาดไปเกือบ 10 เดือนครับ ดีใจมากๆ เพราะเร็วๆ นี้อาจจะกลับมาเริ่มบริจาคภาพได้อีกครั้งครับ จึงถือโอกาสอ่านหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจประจำวันได้ โดยไม่ต้องรอเป็นอาทิตย์ 

ดังนั้นพอได้อ่านคอลัมน์ "ร้อยแปดวิถีทัศน์" ของคุณสุกัญญา หาญตระกูล ในหัวข้อ "ชาวนาไทยรายย่อยไม่จำเป็นต้องส่งออกอันดับ 1 โลก" จบปุ๊บ ก็อดใจไม่ไหวที่จะออกมาช่วยย้ำว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ ผมคิดว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้วิถีชาวนาที่ปลูกข้าวต้องเป็นอย่างนี้ วนเวียนกับภาระหนี้สิน กับความยากจนไม่รู้จบ ผมจึงอยากเสริมข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมให้อีกสักหลายข้อ ในฐานะที่ลงพื้นที่จริง แล้วได้ไปสัมผัสกับชาวบ้านมา แต่ขอบอกไว้ก่อนนะครับ ผมไม่เข้าข้างใคร ผมพิมพ์ให้เพื่อนๆ อ่านตามทรรศนะของผม ถูกผิด ขอให้เป็นวิจารณญาณของผู้อ่านเองนะครับ 


หลังจากที่เรามีการรวมตัวกันเป็น "เกษตรอาสา" ซึ่งตอนนี้เราตั้งชื่อว่า "มดเกษตรอินทรีย์" แล้วออกไปบริจาคสารอาหารพืชที่เป็นจุลินทรีย์ที่สามารถทำให้เกษตรกรนั้นเชื่อมโยงไปสู่วิถีเกษตรอินทรีย์ได้อย่างไม่อยากเย็น คือ ใช้วิถีเกษตรเคมี แต่สิ่งที่ใช้เป็นอินทรีย์ ผลจึงเป็นเกษตรอินทรีย์อย่างไม่ยากเย็นอะไร ทำให้เกษตรกรสามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมี และยาปราบศัตรูพืชได้หมื่นกว่าบาท หากเปรียบเทียบต่อ 10 ไร่ ที่ผมต้องเปรียบเทียบต่อ 10 ไร่ ผมมีนัยยะในการอธิบายนะครับ เพราะว่าเกษตรกรไม่ได้จดบันทึกต้นทุนการทำนาที่แท้จริง ดังนั้นเรื่องพื้นฐานง่ายๆ แค่นี้ละครับ ที่ทำให้นับว่าเป็นจุดตายอีก 1 เรื่องของชาวนาไทย ที่เหมือนกับว่า ลงทุนแต่ไม่ทราบต้นทุน ปัญหาสำคัญที่เกษตรจังหวัด หรือเกษตรอำเภอ ควรให้ความรู้ชาวบ้านนนอกเหนือจากการส่งเสริมสนับสนุนวิถีเกษตรอินทรีย์ ก็คือ การให้ความรู้เรื่องการทำบัญชี

พอเกษตรกรไม่ทำบัญชี จึงเกิดเป็นวัฏจักรของการประเมินงบบัญชีแบบล่ำซำ คือ รอเงินจากการจำนำข้าว ระหว่างรอก็ไปเอาปุ๋ยเคมี+ยาปราบศักตรูพืช มาจากนายทุนก่อน พอเก็บเกี่ยวได้ก็หักกันไป ซึ่งแน่นอนว่าต้องพ่วงด้วยดอกเบี้ย ส่วนต่าง พอถามชาวนาว่า มีกำไรไหม คำตอบคือ ถ้าทำนาได้ไร่ละถึง 100 ถัง ถึงจะพอมีกำไร แต่ถ้าน้อยกว่าต้องดูอีกว่าเท่าไหร่ หากได้ไร่ละ 50-60 ถัง ขาดทุนแน่นอน หากใครบริหารจัดการดีอาจจะเสมอตัว ระหว่างรอข้าวเจริญเติบโต 4 เดือน รอเงินอีกสัก 1-2 เดือน เอาเงินที่ไหนมาใช้จ่ายละครับ ทุกอย่างก็หมดไปกับค่าใช้จ่ายประจำวัน ชีวิตชาวนาไทยก็วนเวียนอยู่อย่างนี้ไม่จบสิ้น

ผมจึงอยากยกตัวอย่างกับงานด้านอาสาของเราที่เรากำลังขับเคลื่อนพร้อมกับความร่วมมืออย่างดีของผู้ใหญ่ และเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชัยนาท ดังนี้นะครับ

  1. รณรงค์ให้เกษตรกรให้ใช้เกษตรอินทรีย์ในการปลูกข้าว ด้วยการจัดฝึกอบรม และแสดงตัวอย่างจิงให้เห็นจากวีดีโอ หรือนำเกษตรกรที่ได้ผลผลิตดีมาเป็นวิทยากรรับเชิญ
  2. เรากำลังทำการตลาดขายข้าวออร์แกนิค โดยพยายามให้มีเปอร์เซ็นต์ในการจำหน่ายข้าวด้วยตนเองให้ถึง 20-30% ในช่วงต้น ผลผลิตส่วนใหญ่ให้ไปจำหน่ายตามระบบช่องทางเดิม อีกทางหนึ่งคือ ช่วยทางรัฐบาลในการรับภาระไปในตัว และให้เกิดส่วนต่างรายได้จากผู้บริโภคโดยตรงให้มากขึ้น
  3. จัดตั้งกองทุนข้าวเปลือกเพื่อนำมาจัดตั้งโรงสีข้าวชุมชน ในระดับตำบลให้กับเกษตรกร
  4. ทำการทดลอง ค้นหา วิธีการปลูกข้าวให้ได้ไร่ละมากกว่า 150 ถังต่อไร่ เพราะตอนนี้เราสามารถทำได้แล้ว 130 ถังต่อ 1 ไร่ ในบางพื้นที่
  5. พยายามแยกแยะให้เกษตรกรได้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการลดการใช้สารเคมี ว่ามีส่วนต่างมาก ในเวลาเดียวกันก็ได้ผลผลิตดีขึ้นกว่าเดิมในระหว่าง 30-50%
  6. สนับสนุนให้เกษตรกร รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มเชิงพาณิชย์ และอบรมด้านการบริหารจัดการให้เกษตรกร รวมทั้งการปลูกฝังการเป็น "ผู้ให้" ในการบริจาคข้าวเข้ากองทุนข้าว
ผมเปรีบเทียบง่ายๆ หากเพื่อนๆ ดูจากคลิปวีดีโอข้างล่างนี้จะพบว่า มีการเก็บตัวเลขค่าใช้จ่ายมาแล้วว่า ชาวนาจะต้องงทุนเท่าไหร่ และมีอะไรบ้างที่เป็นปัญหาอุปสรรคของชาวนาไทย

  **

หากนำเกษตรอินทรีย์มาใช้กับการปลูกข้าว และทำการเกษตรแล้ว จะสามารถลดต้นทุนสำคัญ 3 ข้อแน่นอน คือ

  1. ไม่ต้องซื้อพันธุ์ข้าว ที่ในตลาดส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีคุณภาพ เราสามารถเก็บพันธุ์ข้าวไว้ใช้เองได้เพราะว่าจะสมบูรณ์มากๆ
  2. ลดปุ๋ยเคมี+ยาปราบศัตรูพืช+สารเร่งต่างๆ ถึงกว่า 70-90%
  3. ลดค่าแรงในการใช้สารเคมีต่างๆ
และที่สำคัญที่สุดคือ การเพิ่มผลผลิต หากเกษตรกรเริ่มปรับตัวใหม่ ผมคิดว่าภายใน 1-3 ปี ขึ้นกับภาระหนี้สินของแต่ละครอบครัว เกษตรกรจะสามารถปลดหนี้สินได้แน่นอนครับ จากนั้นเกษตรกรก็จะพบว่า การทำการเกษตรนั้นสามารถสร้างรายได้ที่ดีต่อครอบครัวได้ ซึ่งก็จะทำให้รุ่นลูก รุ่นหลาน ไม่ต้องเข้ามาทำงานในเขตอุตสาหกรรม

จริงๆ แล้ว ยังมีพืชเศรษฐกิจอีกหลายชนิดมากที่สามารถทำให้ชาวนา เกษตรกร สามารถเป็นเศรษฐีแบบพอเพียง ไม่มีหนี้สิน ยิ่งเมื่อบวกกับการบริหารจัดการอย่างเหมาะสมกับพื้นที่ และปัจจัยต่างๆ แล้ว ผมคิดว่าไม่ไกลเกินฝันที่เราจะเห็นชาวนามีคุณภาพชีวิตที่ดีมากๆ ครับ

แถมท้ายตอนสุดท้ายนะครับ ก็ตรงที่ชาวนาด้วย เวลามีเงินก็ควรกันไว้จ่ายค่าใช้จ่ายที่จำเป็นก่อนก็จะยอดเยี่ยมนะครับ อย่าติดนิสัยมีเงินแล้วเก็บไปใช้อย่างอื่นจนหมดเสียก่อน แล้วก็คิดว่า ไปเชื่อปุ๋ยเคมีมาอีก เพราะว่าการทำเกษตรอินทรีย์นั้นใช้ต้นทุนต่ำมากๆ ครับ / เวลาชาวต่างชาติถามผมว่า ทำไมชาวนาไทยทำไมไม่ใช้เกษตรอินทรีย์ ผมละเขินเขามาก ตอบแบบกร่อมแกล้มเลยครับ หวังว่าอีกหน่อยผมจะตอบชาวต่างประเทศได้เต็มปากว่า ชาวนาไทยไม่ใช้สารเคมี นะครับ


ขอบคุณครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น