Biz-008 : รากเหง้าปัญหาที่แท้จริงอีกเรื่องของสังคมไทย ในทรรศนะของผม

สวัสดีครับเพื่อนๆ ผมเองเดิมก็ไม่คิดอะไรมากครับ อยากเขียนบทความจากการอ่าน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ แบบสบายๆ เพราะเรื่องที่สนใจในคอลัมน์ต่างๆ ของกรุงเทพธุรกิจนั้นมีมากมาย เอาเฉพาะที่ผมสนใจ และสแกนเก็บไว้ ก็มีอยู่จำนวนมาก เก็บมาแล้วตั้งเกืมอบ 9 ปี เดิมเพียงแค่ตัดเก็บไว้ แต่เห็นปัญหาการเก็บเอกสารแบบ Hard copy จึงหันมาเก็บแบบ Soft file แทน การสแกนจึงเป็นทางออกที่เหมาะสม

การเขียนบทความจากการอ่านในระยะหลังมานี้ ผมอยากเขียนประเด็นปัญหา ที่สนใจเป็นหลัก ครั้งนี้ผมได้อ่านบทความ "การศึกษาไทยใช้งบสูงแต่ประสิทธิภาพ / คุณภาพต่ำ" ของ รศ.วิทยากร เชียงกูล ในคอลัมน์ "ปฏิรูปประเทศไทย" วันที่ 5 มิถุนายน 2555 แล้วคันมือ อยากสะท้อน และเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนบทความ เพราะว่ามีหลายเรื่องที่ทำงานเกี่ยวข้องโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงอยากแบ่งปันแบบกลางๆ นะครับ ซึ่งผมคิดว่าคงมีคนรู้กันทั่วบ้านทั่วเมืองอยู่แล้ว


อยากให้เพื่อนๆ อ่านให้จบบทความเลยนะครับ ผมหมายถึงบทความใน นสพ. ที่ผมทำมาแบ่งปันนะครับ ปัญหาเรื่องการด้อยคุณภาพของเด็กไทยนั้น มันลึก มันแก้ยาก เป็นทั้งระบบ สังคมไทยวัดคนที่ระดับการศึกษา เป็นหลัก ให้ความสำคัญกับประสบการณ์เป็นรอง จบมาแล้วก็ทำงานไม่ตรงสายงาน ต้องไปเริ่มเรียนรู้ใหม่ การโอนย้ายหน่วยกิตข้ามคณะ ข้ามมหาวิทยยาลัย ก็ยังไม่ชัดเจน หรือทำไม่ได้ ตอนนี้ผมเห็นทางออกของการศึกษาไทย ก็คือ มหาวิทยาลัยชีวิตhttp://www.life.ac.th/ ที่มีการศึกษาแบบบูรณาการ สอนคนให้เข้าใจชีวิตและการศึกษาที่จะนำไปปรับใช้กับชีวิตได้อย่างน่าสนใจ

แม้ว่ารัฐบาลไทยจะมีประชานิยมเรื่องการส่งเสริมการศึกษาให้กับเยาวชน แต่ในความเป็นจริง น่าจะยังมีวาระซ้อนเร้นของการใช้งบประมาณอีกจำนวนมาก เช่น ข่าวล่าสุดที่มีการสั่งซื้ออุปกรณ์ เครื่องมือ สำหรับการเรียนการสอนในสายวิชาชีพ และระดับมหาวิทยาลัย มูลค่าหลายร้อยล้านบาท และคนที่จะกล้าทำเรื่องแบบนี้ได้ ก็ต้องประเมินไว้ก่อนว่า คงจะตำแหน่งไม่เล็กแน่นอน ไม่อย่างนั้นก็คงไม่กล้า

ปัจจุบันไทยกำลังโหมประชาสัมพันธ์เรื่องการเข้าร่วมประชาคมอาเซียน จึงรณรงค์อย่างหนัก โดยเฉพาะเรื่องภาษาอังกฤษที่เด็กไทยจะได้เร่งพัฒนา ผมไม่รู้ว่าจะช้าไปรึเปล่ากับเวลาอีกเพียง ไม่ถึง 3 ปี การเตรียมการศึกษาแบบนี้ ในความคิดของผมไม่ต่างอะไรกับ "ผักชีโรยหน้า"

ผมมีประสบการณ์ตรงมากเรื่องหนึ่ง คือ ตอนที่ผมอายุ 36 (ปัจจุบัน 40 แล้วครับ) ผมมีความจำเป็นต้องทำงานร่วมกับชาวต่างชาติ ทำให้ไม่มีความมั่นใจเรื่องการฟัง และการพูด จึงตั้งใจจะจ้างชาวต่างประเทศมาสอนที่บ้าน ซึ่งก็ต้องล้มไปเพราะสู้รายจ่ายไม่ไหว แล้วก็ได้พบกับโปรแกรมการเรียนรู้พื้นฐานเสียงภาษาอังกฤษที่ถูกต้อง จากเมืองนอก ตอนที่เรียนจบ ผมบอกตัวเองว่า "ผมไปทำอะไรมาเนี่ยจนอายุ 36 ผมโง่มาก ทำไมผมถึงไม่ได้เรียนรู้เรื่องที่ควรรู้ตั้งแต่วัยเด็ก" และเรื่องนี้ทำให้เป็นแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ตลอดมา เร็วๆ นี้ ผมกำลังทำโครงการร่วมกับระดับอุดมศึกษา โดยคัดเลือกเฉพาะนักศึกษาที่อ่อนภาษาอังกฤษมากที่สุด 


ฟังดูอาจแปลกๆ นะครับ บ้านเรามักเลือกคนที่เก่งที่สุดไปพัฒนา แต่ความคิดของผมกลับสวนทาง หากระดับการศึกษาของประเทศเราดีจริง ต้องสอนเด็กไม่เก่งให้เก่งได้ สอนเด็กอ่อนให้มีความสามารถ ประเทศชาติจึงจะมีแต่คนเก่งน้อย หรือเก่งมาก เท่านั้น ไม่ใช่มีเพียงเด็กเก่ง กับไม่เก่ง ดังนั้นโครงการของผม ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเลือกเด็กไม่เก่งภาษาอังกฤษเข้าร่วมโครงการ และใช้เวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้น ในการพัฒนาเด็กอ่อนภาษาอังกฤษ หากโครงการสำเร็จ เหมือนที่ผมได้ประสบกับตัวเอง เราอาจจะยังพอทันพัฒนาเด็กไทยภายใน 3 ปีนี้ได้ครับ


เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ต่างประเทศเคยเข้ามาพูดคุยกับหน่วยงานด้านการศึกษาของไทย ถึงการพัฒนานักเรียน นักศึกษาไทย เมื่อหลายปีก่อน แต่ทุกอย่างต้องเลิกล้มไป เพราะมีเรื่องของคอรัปชั่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งต่างประเทศไม่อาจยอมรับเรื่องแบบนี้ได้ แต่ในขณะที่เพื่อนบ้านรอบๆ ประเทศเรา เขารีบตะครุบความช่วยเหลือจากทางต่างประเทศทันที จึงเป็นสาเหตุให้เพื่อนบ้านเราพัฒนาภาษาอังกฤษแซงหน้าเราไปอย่างรวดเร็ว เยาวชนของเราเป็นอนาคตของชาติ หากเรายังไม่รู้สำนึก ไม่เร่งทำสิ่งที่ถูกต้อง หยุดคอรัปชั่น ทำเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง ผมคิดว่าหลายๆ ท่านคงจินตนาการออกว่า ประเทศของเราจะเป็นอย่างไร


ยังดีว่าชัยภูมิ ที่ตั้งของประเทศไทยนั้นดี เป็นศูนย์กลางของอาเซียน แบบที่ใครๆ ก็อยากได้ อยากเป็น แต่เรากลับละเลยจุดเด่นของเราไป ผู้มีอำนาจในด้านต่างๆ กลับทำร้านบ้านเมืองอย่างไม่รู้สำนึก จนทำให้บ้านเมืองต้องเป็นสภาพแบบนี้ มองไปด้านใด ด้านนั้นก็มีปัญหาไปเสียหมด อยู่กันแบบ อยู่ไปแก้ปัญหาไป ไม่ใช่อยู่ไปพัฒนาไป


บทความบ่นๆ จบ มีสัก 1 คนที่กลับตัวกลับใจ ผมก็พอใจแล้วครับ

ขอบคุณครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น